รอบรู้เรื่องผู้หญิง

ฮอร์โมนของคุณกำลังไม่สมดุลหรือเปล่า

“เมนส์ไม่มาใช่ไหม ถึงได้หงุดหงิดใส่กัน” หรืออาการผิดปกติต่าง ๆ ที่ทำให้เราไม่สบายตัว เช่น ปวดโน่นนี่ สิวขึ้น นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่ม จนทำให้คุณภาพชีวิตลดลง และหาสาเหตุไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร!

สภาวะ “ฮอร์โมนไม่สมดุล” อาจเป็นสาเหตุสำคัญ เพราะกระบวนการทำงานหลายอย่างของร่างกายถูกควบคุมโดยฮอร์โมนต่าง ๆ อาทิ เอ็นดอร์ฟิน, เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, คอร์ติซอล, อะดรีนาลิน และ ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายทำงานอย่างปกติและสมดุล เช่น ในระหว่างช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน ช่วงมีประจำเดือน หรือในช่วงตั้งครรภ์ หากฮอร์โมนเสียสมดุลอาจส่งผลต่ออารมณ์ สุขภาพ และอาจทำให้เกิดความผิดปกติหรือโรคร้ายต่าง ๆ และบางครั้งยาบางประเภทก็ส่งผลต่อสุขภาพทำให้ฮอร์โมนของเราขึ้นลงได้ด้วย


เช็กด่วน 12 สัญญาณบอกความไม่สมดุลของฮอร์โมน


1. ประจำเดือนมาผิดปกติ

โดยปกติ ประจำเดือนของผู้หญิงจะมาในทุก ๆ 21 - 35 วัน แต่ถ้าประจำเดือนของคุณมาไม่ตรงกันทุกเดือน ข้ามเดือน หรือมาบ้างไม่มาบ้าง นั่นอาจหมายความว่าคุณมีฮอร์โมน เอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน มากหรือน้อยเกินไป แต่ถ้าคุณมีอายุ 40 ปี หรือ 50 ปีต้น ๆ ก็อาจเป็นเพราะว่าคุณอยู่ในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน (ใกล้วัยทอง) อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนมาผิดปกติก็สามารถเป็นอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome – PCOS) ได้เช่นกัน จึงควรสังเกตอาการผิดปกติของการมีประจำเดือนด้วยเป็นสำคัญ


2. นอนไม่หลับ

เป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่าร่างกายของคุณมีระดับฮอร์โมนต่ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีผลต่อการนอน ส่วนใหญ่พบมากในผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูก และเป็นสาเหตุของผู้หญิงบางคนที่มีปัญหาในการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ การมีระดับที่ไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนก็สามารถทำให้คุณมีอาการร้อนวูบวาบ และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งล้วนแต่ทำให้ยากต่อการนอนหลับสบายนั่นเอง


3. สิวขึ้น

การมีสิวขึ้น ก่อน หรือ ระหว่างมีประจำเดือน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเลยช่วงเวลานั้นไปแล้วสิวยังไม่หายไป อาจเป็นเพราะฮอร์โมนมีปัญหาและทำให้ต่อมน้ำมันทำงานหนักกว่าเดิมนั่นเอง นอกจากนี้มันยังส่งผลต่อเซลล์ผิวภายใน หรือรอบ ๆ รูขุมขน ซึ่งล้วนแต่ทำให้รูขุมขนอุดตัน และทำให้เกิดสิวได้ในที่สุด


4. ระบบย่อยอาหารผิดปกติ

ในลำไส้ของเรามีเซลล์เล็ก ๆ ที่เรียกว่า Receptors ที่จะตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน หากฮอร์โมนเหล่านี้สูงหรือต่ำกว่าปกติ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบย่อยอาหาร โดยมีผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทกซัส ระบุว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับสูง มีผลต่อจุลชีพของลำไส้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาการท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด และคลื่นไส้ ถึงเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว หรือมีอาการแย่กว่าเดิมทั้งในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน


5. อ่อนเพลียเมื่อยล้าตลอดเวลา

ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณพื้นฐานของการมีฮอร์โมนที่ไม่สมดุล เพราะการมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากเกินไปสามารถทำให้รู้สึกง่วงนอน แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาต่ำเกินไปก็สามารถทำให้พลังงานลดลงและอาจส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้าได้เช่นกัน


6. สมองตื้อ

หากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเปลี่ยนไป อาจส่งผลให้เกิดอาการ สมองตื้อ จำสิ่งต่าง ๆ ได้ยากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้ความเห็นว่า เอสโตรเจน อาจส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง แต่การมีปัญหาเกี่ยวกับ ความจำ สมาธิ สมองตื้อ  มักพบได้มากในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยทอง


7. ขี้วีน แปรปรวนและซึมเศร้า

คำว่า ฮอร์โมนแปรปรวน หรือ Hormone Swing หลายคนคงเข้าใจว่ามีอาการเป็นอย่างไร เพราะนอกจากอารมณ์หงุดหงิดโมโหง่ายแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อสมองและอารมณ์อีกด้วย นักวิจัยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เรารู้สึกหงุดหงิดและเศร้าได้ ทั้งนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อสารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนิน โดพามีน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของผู้หญิงเรา


8. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

หรือจะบอกว่าอ้วนขึ้นเพราะฮอร์โมนผิดปกติก็อาจเป็นไปได้ เพราะเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยลง เราก็จะรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น ต่อมความหิวก็เริ่มทำงานมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนอยากกินอาหารจุกจิกมากขึ้น จนน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั่นเอง


9. ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะมีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นก็ยังมีเรื่องของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน หากลองสังเกตตัวเอง ก็จะพบว่ามีอาการปวดศีรษะก่อนมีประจำเดือนเสมอ


10. ช่องคลอดแห้ง

โดยปกติแล้วหากคุณผู้หญิงมีช่องคลอดแห้ง หรือไม่มีน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์เป็นบางครั้งบางคราว ก็ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งเกินไป อาจเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปริมาณต่ำ ส่งผลให้ให้ช่องคลอดขาดความสมดุลในการทำงานตามไปด้วย


11. ความต้องการทางเพศลดลง

ความต้องการทางเพศของผู้หญิงมี ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน คอยควบคุม หากระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยเกินไป อาจส่งผลให้มีความต้องการทางเพศลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุได้


12. ขนาดหน้าอก (เปลี่ยนแปลง)

การเปลี่ยนแปลงของขนาดหน้าอก เป็นสัญญาณที่ร้ายแรงที่สุดของปัญหาร่างกาย ซึ่งหากระดับฮอร์โมนเอสโตเจนลดลงอย่างฉับพลัน จะส่งผลต่อความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิว จึงทำให้ขนาดหน้าอกมีความเปลี่ยนแปลง


ทั้งหมดนี้คุณจะเห็นได้ว่า หากฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งจากภายในสู่ภายนอก ทั้งทางด้านอารมณ์ไปจนถึงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองเป็นประจำ หาตัวช่วยบำรุงฮอร์โมนให้มีความสมดุลด้วยสมุนไพร วิตามิน หรือในเมนูอาหารมื้อปกติที่เรากิน หากพบความผิดปกติก็อย่ารีรอที่จะไปปรึกษาแพทย์นะคะ

ระบบไหลเวียนโลหิตดี มีสุขภาพดี

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนได้ให้ความรู้เรื่อง ระบบการไหลเวียนเลือดไว้ว่า ระบบไหลเวียนเลือดนั้นเปรียบเสมือนการทำงานของระบบขนส่งภายในร่างกาย

อาหารบำรุงเลือดใกล้ตัว กินแล้วเลือดไหลเวียนดีมีอะไรบ้าง

หลายๆ คนทราบไหมคะว่าการบำรุงโลหิตเพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายของเราเป็นปกติ สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งฉีดฮอร์โมนเข้าร่างกาย การทานอาหารเสริมต่างๆ หรือวิธีง่ายๆ ด้วยการทานอาหารใกล้ตัวที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงได้ค่ะ

ประจำเดือนแบบไหนที่ควรตกใจ

ประจำเดือนเป็นเรื่องใกล้ตัวสาวๆทุกคน แต่ก็ใช่ว่าเราจะรู้เรื่องนี้กันดีนัก พอเกิดอาการผิดแผกแตกต่างจากเดือนก่อนๆขึ้นมา สาวๆก็ตกใจแทบสิ้นสติ มาเรียนรู้เรื่องประจำเดือนกันเถอะ

ยาสตรีเลดิน่า มีจำหน่ายที่ หรือสั่งซื้อออนไลน์

บริษัท นิวคอนเซพท์ โปรดัคท์ จำกัด

156 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240

โทรศัพท์ : (662) 731-2333 แฟกซ์ : (662) 738-1295

เวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 08.30 - 17.30 น.

สอบถามรายละเอียด/สั่งซื้อสินค้า

0-2731-2333

info@ladinaclub.com

สั่งซื้อออนไลน์

Top